แคนตาลูป (Cantaloupe) หรือ “แตงแคนตาลูป” แคนตาลูป ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ “Cucumis melo L. var. cantaloupensis” เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย แต่มีผู้นำผลไม้ชนิดนี้ไปปลูกที่ประเทศอิตาลีในเมือง “แคนตาลูโป (Cantalupu)” ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงโรม จึงเป็นที่มาของชื่อผลไม้ชนิดนี้ โดยผลไม้ชนิดนี้ได้นำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2478 โดยปลูกครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนได้มีการนำมาทดลองปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรบางเขน ปรากฏว่าได้ผลดี โดยแหล่งปลูกแคนตาลูปที่สำคัญของประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร
แคนตาลูป จะมีลักษณะคล้ายๆ กับ “แตงไทย” บ้านเรา คนไทยจึงนิยมเรียกกันว่า แตงเทศ, แตงฝรั่ง, แตงไทยฝรั่ง โดยมีลักษณะของผลจะกลม ผิวมีสีเขียว เหลือง ขาว น้ำตาลคล้ำ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆเป็นหลัก ผิวของผลจะหยาบ เปลือกแข็ง มีร่องลึกรอบๆผล เปลือกจะมีลายคล้ายร่างแหหรือตาข่าย เมื่อสุกแล้วเนื้อข้างในจะมีสีส้ม หรือสีจำปา รสชาติออกหวาน มี กลิ่นหอม แต่ถ้าจะนำมาทำน้ำแคนตาลูป แนะนำว่าควรเลือกแคนตาลูปที่กำลังสุกพอดี ถ้าอ่อนมากเกินไปจะไม่มีกลิ่นหอม แต่ถ้าสุกมากเกินไปเมื่อลองเขย่าดูจะมีน้ำอยู่ข้างในยิ่งเสียงน้ำมาก เท่าไหร่แปลว่ายิ่งสุกมากเท่านั้น และให้เลือกผลขนาดกลางๆ น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม โดยเลือกผิวที่เรียบตึง ไม่เป็นรอยหยักหรือเลือกที่เป็นสีนวลเหมือนเปลือกไข่ก็ใช้ได้
สำหรับประโยชน์ของแคนตาลูปและสรรพคุณของแคนตาลูปนั้นมีอยู่มากมาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโซเดียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก โดยแคนตาลูป 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 250 กรัม ให้พลังงาน 40 แคลอรี่ ซึ่งแคนตาลูปที่ปลูกในช่วงฤดูกาลประมาณเดือนเมษายน จะมีวิตามิน1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 และวิตามินซีมากเป็นพิเศษกว่าแคนตาลูปที่ปลูกนอกช่วงฤดูกาล
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส
- ช่วยในการชะลอวัย และลดการเกิดริ้วรอย
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยเสริมสร้างภูมิร่างกายให้แก่ร่างกาย
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
- มีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง
- มีส่วนช่วยในเรื่องของการเกิดสมาธิ
- มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ
- มีส่วนช่วยรักษาโรคความดันโลหิต
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยในการลดไข้ เพราะน้ำแคนตาลูปเป็นผลไม้เย็น
- ช่วยดับร้อนแก้กระหาย
- ช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ
- ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยเคลือบกระเพาะอาหารบรรเทาอาการอักเสบของลำไส้
- ช่วยบรรเทาอาการท้องปั่นป่วนจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
- ช่วยในการขับน้ำนม
- ช่วยในการขับเหงื่อ
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- พลังงาน 34 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 8.16 กรัม
- น้ำตาล 7.86 กรัม
- เส้นใย 0.9 กรัม
- ไขมัน 0.19 กรัม
- ประโยชน์ของแคนตาลูปโปรตีน 0.84 กรัม
- วิตามินเอ 169 ไมโครกรัม 21%
- เบต้าแคโรทีน 2,020 ไมโครกรัม 19%
- ลูทีน และ ซีแซนทีน 26 ไมโครกรัม
- วิตามินบี1 0.041 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี2 0.019 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี3 0.734 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี5 0.105 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี6 0.072 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี9 21 ไมโครกรัม 5%
- โคลีน 7.6 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 36.7 มิลลิกรัม 44%
- วิตามินเค 2.5 ไมโครกรัม 2%
- ธาตุแคลเซียม 9 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 0.21 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.41 มิลลิกรัม 20%
- ธาตุฟอสฟอรัส 15 มิลลิกรัม 2%
- โพแทสเซียม 267 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุโซเดียม 16 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม 2%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
“ไม่ควรรับประทานแคนตาลูปติดต่อกันนานจนเกินไป เนื่องจากแคนตาลูปเป็นผลไม้ที่ดูแลยาก มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆและแมลงต่างๆมากมาย โดยการปลูกแคนตาลูปนั้นต้องใช้ยาที่แรงและฉีดบ่อยมาก บางคนฉีดยาไม่เว้นแต่ละวัน แม้กระทั่งวันเก็บผลผลิตขายก็ยังฉีด ยามันจึงสะสมไว้ในลูกแคนตาลูป การรับประทานเข้าไปก็อาจจะสะสมไว้ในร่างกายเรื่อยๆ ซึ่งอันตรายมาก”